q
มาตรฐานแรงงานไทยคืออะไร
แรงงาน เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในการผลิตสินค้าและบริการ และเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่วางไว้ อีกทั้ง ปัจจุบันทั่วโลกได้ให้ความสนใจการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อแรงงาน ซึ่งมีผลต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจ และการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ให้ความหมายของมาตรฐานแรงงานไทยว่าเป็นมาตรฐานในการบริหารจัดการแรงงานที่ยึดหลักปฏิบัติตามกฎหมาย การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ยอมรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีความโปร่งใสและมีความรับผิดชอบ เพื่อคุณภาพชีวิตแรงงานและธุรกิจที่ยั่งยืน
มาตรฐานแรงงานไทยมีการรับรองกี่ระดับ
มาตรฐานแรงงานไทยมีการรับรองทั้งหมด 3 ระดับด้วยกัน แบ่งออกเป็น
ระดับพื้นฐาน คือ มีค่าล่วงเวลาให้กับแรงงาน และทำงานในวันหยุดไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งระดับนี้จะมีอายุการรับรองมาตรฐานแรงงาน 2 ปี
ระดับสมบูรณ์ คือ มีค่าล่วงเวลาให้กับแรงงาน และทำงานในวันหยุดไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยระดับสมบูรณ์นี้มีอายุการรับรอง 3 ปี
ระดับสมบูรณ์สูงสุด คือ มีค่าล่วงเวลาในการทำงาน และทำงานในวันหยุดไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยระดับสมบูรณ์สูงสุดนี้มีอายุการรับรอง 3 ปี
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมมือกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแล คุ้มครอง ให้ความรู้และให้ความเป็นธรรมแก่แรงงาน โดยนายจ้างหรือเจ้าของธุรกิจจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ เข้าใจ และปฏิบัติกับแรงงานด้วยความเป็นธรรม มีสวัสดิการที่เหมาะสมให้กับแรงงาน กระทรวงแรงงานจึงออกข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001-2553) ขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติกับแรงงานอย่างเป็นธรรม นำข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001-2553) มาเป็นหนึ่งในเกณฑ์การคัดเลือกธุรกิจที่เหมาะสมกับตราสัญลักษณ์แห่งคุณภาพ T Mark
รายละเอียดการสมัครมาตรฐานแรงงานไทย สำหรับผู้ที่สนใจสมัครขอรับตราสัญลักษณ์
T Mark มีดังนี้
1. ศึกษาเอกสารและเตรียมความพร้อมก่อนรับการประเมิน โดยการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานไทยจากเว็บไซต์ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ( https://www.labour.go.th/ ) จากนั้นขอแบบคำขอ-ยื่นแบบคำขอ หลังจากที่ศึกษาและสอบถามเกี่ยวกับมาตรฐานแรงงานไทยแล้ว ดาวน์โหลดเอกสารแบบคำขอการรับรอง มรท.8001-2553 (กรร.03) จากลิงก์http://tls.labour.go.th/2018/index.php/vchakan/downloads/2011-09-07-00-47-20
2. ขั้นตอนการรับการประเมิน
เมื่อยื่นข้อมูลเอกสารช่องทางออนไลน์แล้ว จะมีการจัดทำแผนและประเมินภายใน 120 วัน ในกรณีที่ไม่พบข้อบกพร่อง หน่วยงานจะสรุปผลการประเมินและจัดทำรายงานภายใน 30 วัน 180 วัน ก่อนจะติดตามผลและสรุปผลการประเมินต่อไป
3. ได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงาน
โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือหน่วยรับรองที่ได้รับการรับรองระบบงานตามมาตรฐาน ISO/IEC 17021 จากคณะกรรมการรับรองหน่วยรับรอง สำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติจะเป็นผู้พิจารณาให้คำรับรองและจัดทำใบรับรองเป็นลำดับถัดไป
จะเห็นได้ว่าการได้รับรองมาตรฐานแรงงาน นอกจากจะช่วยเพิ่มกำลังใจให้แรงงาน ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ มีความมั่นคงและได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน ด้านผู้ประกอบการยังได้ประโยชน์จากภาพลักษณ์ของการปฏิบัติกับแรงงานอย่างเป็นธรรม ทำให้ธุรกิจเกิดความน่าเชื่อถือ เป็นที่ไว้วางใจ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการนอกจากนี้ยังเป็นเครื่องหมายทางการตลาดที่ทำให้แข่งขันทัดเทียมในเวทีการค้าทั้งในและนอกประเทศอีกด้วย
ผู้ประกอบการท่านใดสนใจสมัครขอรับตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandtrustmark.com